ทั่วไป

กาแฟไทย อนาคตที่ไปได้อีกไกล

ในปัจจุบัน แทบจะทุกมุมถนน เราจะพบว่า มีร้านกาแฟเปิดใหม่เกิดขึ้นให้เห็นจนชินตา ทั้งร้านขนาดเล็ก ร้านที่เป็นแบรนด์ไทย หรือที่เป็นสาขาจากแบรนด์ต่างชาติ มีให้นักดื่มได้เลือกชิมกันมากมาย วัตถุดิบนั้นก็สามารถสรรหาได้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้นิยมกันแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ทั่วโลกก็มีปริมาณบริโภคกาแฟเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ธุรกิจกาแฟของไทย มียอดส่งออกมาเป็นอันดับที่ 10-11 ของโลก มาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เอง และจาก International Coffee Organization ล่าสุดในเดือนเมษายน 2563 นี้ ระบุว่า ยอดการส่งออกเมล็ดกาแฟของไทย มีปริมาณสูงถึง 81,000 ตัน เป็นอันดับที่ 10 ของประเทศผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟมากที่สุด เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2016/2017 ถึง 4%

หลายคนคิดว่า ช่วงโควิด-19 ร้านอาหาร โรงแรม ร้านกาแฟ น่าจะขายลำบาก ยอดการบริโภคน่าจะลดลง จากมาตรการ การเว้นระยะห่างทางสังคมทั่วโลก หากแต่ข้อมูลที่ได้รับจาก กรมเจรจาการค้าระหกว่างประเทศ ระบุว่า ยอดส่งออกกาแฟของไทยโดยเฉพาะกาแฟสำเร็จรูป ในไตรมาสแรกสูงถึง 6,000 ตัน เพิ่มขึ้น 14.69% ซึ่งนับเป็นโอกาสของผู้ผลิตกาแฟไทยในภาวะที่ ประเทศผู้ผลิตกาแฟอื่นๆ ยังไม่สามารถผลิตป้อนตลาดโลกได้ทัน และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ผู้ขายเมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป ต่างปรับกลยุทธ์การขาย โดยเน้นช่องทางออนไลน์ การจัดส่งตรงถึงผู้ซื้อ ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นกาแฟพร้อมดื่ม รวมทั้งมีการแนะนำ ให้ความรู้ สอนการปรุงกาแฟในรูปแบบออนไลน์ ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความต้องการแก่ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณการสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ในส่วนของสินค้ากาแฟสำเร็จรูป (3 in 1) กาแฟคั่วบด กาแฟแคปซูล และอุปกรณ์ชงกาแฟ ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและทางออนไลน์ มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มลูกค้าที่เคยซื้อในปริมาณมาก เช่น โรงแรม ภัตตาคาร และสายการบิน ที่มียอดขายลดลงเนื่องจากต้องหยุดกิจการในช่วงนี้ 

เมื่อหันมามองแนวโน้มธุรกิจกาแฟเมืองไทย โดยเฉพาะตลาดกาแฟสด ข้อมูลที่พบ เราได้เห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากขณะนี้ ที่อัตราการบริโภคกาแฟสดของคนไทยที่ยังต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ คือ มีอัตราการบริโภคโดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (300 แก้วต่อคนต่อปี) ต่ำกว่าคนในยุโรปที่ตัวเลขอัตราการบริโภคอยู่ที่ประมาณ 4-5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (ประมาณ 600 แก้วต่อคนต่อปี)

ขณะที่คนในประเทศญี่ปุ่นมีการบริโภคกาแฟอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (ประมาณ 400 แก้วต่อคนต่อปี) ตัวเลขนี้สะท้อนว่าตลาดกาแฟสดยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้มาก และอาจจะมีตัวเลขถึงปีละ 10% แน่นอนว่าการแข่งขันยังดุเดือดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เพราะมีคู่แข่งรายใหญ่ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่นบราซิล(อันดับ1) เม็กซิโก (อันดับ5) หรือกระทั่งเพื่อนบ้านเราในเอเชียเอง ทั้ง อินโดนิเซีย (อันดับ2) ฟิลิปปินส์ (อันดับ4) เวียตนาม (อันดับ6) เป็นต้นซึ่งในช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  นั่นจึงเป็นโอกาสให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมกาแฟไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ ที่สำคัญ เรายังเห็นว่าภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทย ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมผลักดันขึ้นเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังการเติบโตของตลาดกาแฟไทย ที่ขึ้นไปถึงระดับ 30,000 ล้านบาท ล่าสุด ซึ่งได้เกิดเป็นร่างยุทธศาสตร์กาแฟจัดโครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 สร้างความร่วมมือและจัดทำ Roadmap สร้างอาเซียนเป็นแหล่งผลิตกาแฟสำคัญของโลก ยุทธศาสตร์กาแฟในช่วงระยะ 5 ปี ตั้งแต่ช่วงปี 2559 – 2563 ว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำในด้านการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพของภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีการผลักดันให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรและผู้ดำเนินธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟของไทย เนื่องจากแนวโน้มราคาผลผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพในตลาดโลกมีแนวโน้มที่สูงขึ้น รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟไทยที่มีมูลค่าสูงขึ้นไปถึง 30,000 ล้านบาท ขณะที่ผลผลิตเมล็ดกาแฟของไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ สาเหตุจากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลงเหลือ 259,867 ไร่ ทำให้ผลผลิตกาแฟลดลงไปด้วยโดยเหลือเพียง 23,273 ตัน แต่ยังสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรปีผู้ปลูกถึงปีละอย่างน้อย 200 ล้านบาท

ธุรกิจกาแฟของไทยมีมูลค่าในการส่งออกประมาณ 3,900 ล้านบาท ในปี 2560 แต่มีมูลค่าการนำเข้าถึงประมาณ 8,044 ล้านบาท แม้ว่าตลาดการบริโภคกาแฟในไทยจะมีตัวเลขสูงขึ้นทุกๆ ปี แต่แท้จริงแล้วคนไทยยังมีการบริโภคกาแฟน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ถึงจะชัดเจนเรื่องปริมาณการบริโภคกาแฟของคนไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงนัก แต่ด้วยมูลค่าธุรกิจร้านกาแฟในไทยนับตั้งแต่ปี 2560 ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.12 หมื่นล้านบาท และสูงขึ้นอีกในปี 2561 ที่ 2.34 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 ที่ผ่านมามีการคาดการณ์กันว่ามูลค่าธุรกิจร้านกาแฟอาจสูงถึง 2.58 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมองในโอกาสของธุรกิจกาแฟ จากปริมาณการบริโภคกาแฟทั่วโลกแล้ว ตัวเลขที่พบมีปริมาณสูงถึง 9.5 ล้านตัน เทียบกับปริมาณการส่งออกรวมของผู้ส่งออกกาแฟทั่วโลก ยังมีเพียง 2.9 ล้านตัน เท่านั้น (ตัวเลขก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19) ซึ่งในช่วงโควิด-19 ปริมาณการส่งออกของรายใหญ่ๆ ลดลงเป็นจำนวนมาก ทำให้ยอดสั่งซื้อ เทมาที่ผู้ประกอบการของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ช่องว่างนี้ยังมีที่ให้กับผู้ประกอบการอีกมาก ทั้งในและต่างประเทศ นี่อาจจะเป็นสาเหตุให้นักลงทุนหันมาจับธุรกิจนี้มากขึ้น ส่งผลให้แบรนด์กาแฟทั้งจากต่างประเทศและโลคอลแบรนด์ เดินหน้าเข้ามาในตลาดกาแฟไทย และมีร้านกาแฟ หรือคาเฟ่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมของเมือง ทั้งในสถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟรูปแบบ Stand alone หรือกระทั่งร้านกาแฟรถเข็น

ทั้งนี้ หากหลายภาคส่วนให้การสนับสนุนธุรกิจผลิตกาแฟอย่างจริงจัง พัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่เป็นที่นิยม หรือที่มีมูลค่าสูงเพิ่มมากขึ้น เช่น กาแฟขี้ชะมด เป็นต้น หรือแม้แต่ส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตกาแฟที่หลากหลายขึ้น แทนการผลิตกาแฟสายพันธ์ธรรมดาทั่วๆ ไป หรือวิธีการบริโภคทั่วๆ ไป บางทีกาแฟไทยอาจกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ให้คุณค่าแก่สังคมได้อย่างไม่ยากเย็นเลย 

 

 

Ref:ข้อมูลจาก กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2562)

Mokapot24(2563)

ศูนย์อัจฉริยะ เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร

International Coffee Organization (Apr 2020)

Thai SMEs Center

Author : สมชนก เตชะเสน  รองผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 

 

Most Viewed
more icon
  • ที่มาของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

    ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คนไทยจะได้ยินคำว่า “ยั่งยืน” บ่อยครั้งขึ้น หลังจากที่รู้จักความยั่งยืนผ่านทางปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร &nb...

    calendar icon07.07.2020
  • 5 ความพร้อมก้าวสู่ผู้ส่งออกมืออาชีพ

    ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลกของโควิด-19 คำว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) กลายเป็นคำศัพท์ยอดนิยมที่ถูกใช้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจ การศึกษา สังคม หรือบทสนทนาในชีว...

    calendar icon23.07.2020
  • จับตาส่งออกไทย หลังเลือกตั้งสหรัฐฯ

    ขณะนี้โลกกำลังจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 59 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยมี ‘โจ ไบเดน’ เป็นผู้ท้าชิงเก้าอีประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต และ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธา...

    calendar icon30.10.2020