การเงิน - บริหารจัดการ

แหล่งเงินทุนของ SMEs
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC) เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มีหน้าที่เป็น One Stop Service เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารแบบ One Stop Service
EXAC ก่อตั้งมาเมื่อปี 2561 จนถึงปัจจุบันได้มีการให้บริการให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาธุรกิจ ให้ความรู้ แนะนำ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้เพิ่มศักยภาพจนกลายเป็นผู้ส่งออกจำนวนมาก และจากการที่ได้คลุกคลีกับผู้ประกอบการมาในหลายช่องทางก็พบว่า ปัญหาหลักและเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการที่ต้องการให้มีการช่วยเหลือคือ เรื่องเงินทุน
การที่เรื่องนี้มีความสำคัญมากก็เพราะ บางครั้งการมีไอเดียที่ดีแต่ไม่มีเงินลงทุนในการเริ่มต้น ก็อาจจะทำให้ไอเดียที่คิดไว้ ไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นจริงได้ หากเป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิม มีกลุ่มลูกค้าชัดเจนว่าจะขายใคร ขายที่ไหน ก็ไม่น่าจะหาเงินทุนได้ยาก แต่ปัจจุบันเกิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่มากมาย โดยเฉพาะกับธุรกิจรูปแบบใหม่อย่างสตาร์ทอัพที่มีความเสี่ยงสูง การหาเงินทุนจึงมีรูปแบบที่แตกต่างกับธุรกิจทั่วไปที่มักจะเน้นเงินทุนส่วนตัวและสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นหลัก สำหรับสตาร์ทอัพนั้นแหล่งเงินทุนมักจะขึ้นอยู่กับระยะการดำเนินงานและการเติบโตของธุรกิจ ที่แต่ละช่วงจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ธุรกิจขยายเติบโตต่อไปได้
วันนี้จึงอยากแนะนำช่องทางการหาเงินทุนสำหรับการเริ่มกิจการ หรือ ขยายกิจการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs แหล่งเงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่ต้องการดันให้ฝันเป็นจริง
โดยส่วนใหญ่มาจาก 4 แหล่งใหญ่ๆ คือ
- แหล่งเงินทุนของตัวเอง ( Founder, Family, Friend )
- การหาผู้ร่วมทุนหรือจากนักลงทุน ( Investor, Venture Capital )
- การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
- เงินทุนจาก Creative Source
ทีนี้มาทำความรู้จักกับแหล่งเงินทุนแต่ละประเภท เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณา หากมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินเพื่อขยายธุรกิจ
1.แหล่งเงินทุนของตัวเอง
การใช้เงินทุนของตัวเอง เป็นแหล่งเงินทุนพื้นฐาน ที่ผู้ประกอบการจะต้องมีก่อนที่จะข้ามไปยังการหาแหล่งเงินทุนอื่น โดยแหล่งเงินทุนนี้มักจะเรียกว่า 3F คือ Founder, Family, Friend ซึ่งชัดเจนคือ
มาจากตัวเราเองคือผู้ก่อตั้ง มาจากการระดมทุนในครอบครัว และเพื่อนฝูงซึ่งเงินลงทุนประเภทนี้จะใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจ และโอกาสในการทำกำไรหากร่วมลงทุนในธุรกิจ
แต่หลายคนก็เตือนเรื่องของการใช้แหล่งเงินทุนประเภทนี้ หากใช้เงินของครอบครัว หรือ หยิบยืมจากเพื่อนฝูง จำเป็นต้องมีการบริหารความสัมพันธ์ให้ดี เพราะอาจจะมีปัญหาระยะยาวก็ได้ เพราะแหล่งเงินนี้จะได้มาง่ายกว่าที่อื่น แต่ก็จะต้องคืนเงินที่รับมาให้ได้เช่นกัน
คำแนะนำหากจะขอยืมเงินคนใกล้ตัวมาเริ่มธุรกิจ ควรจะเริ่มด้วยทุนของตัวเองก่อน เพื่อทดสอบตลาดว่าตอบรับธุรกิจที่เราคิดจะทำขึ้นหรือไม่ หากทำแล้วมีแนวโน้มดีอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับเราและผู้ที่เราจะไปขอสนับสนุนทางการเงินว่า ให้เงินไปแล้วจะได้รับเงินคืนในอนาคต
2.หาผู้ร่วมทุน หรือหาเงินจากนักลงทุน
แหล่งเงินทุนที่มาจาก Investor, Venture Capital นี้ แตกต่างจากประเภทแรกที่ลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนเป็นหลัก สาเหตุที่ลงทุนส่วนใหญ่ก็เพราะรู้เข้าใจในสถานะการณ์ธุรกิจ กลุ่มนักลงทุนอิสระที่จะใช้เงินทุนส่วนตัวของตัวเองมาร่วมลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยมาก จะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มีเงินทุน และมีความสนใจหรือมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่จะร่วมลงทุน ซึ่งนอกจากจะให้เงินทุนแล้ว ยังสามารถให้คำแนะนำ ช่วยเหลือธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือช่วยหาเครือข่ายธุรกิจ (Connection) ให้ในการทำธุรกิจได้ ด้วย ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ลงทุนด้วยจำนวนเงินที่สูงมาก แต่ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในช่วงแรก เพราะสามารถช่วยให้สตาร์ทอัพเริ่มต้นธุรกิจได้
นอกจากนั้นแหล่งเงินทุนในกลุ่มนี้ ยังมีตั้งแต่การนำหุ้นของบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนทั่วไป มีการเสนอขายหุ้นบางส่วนที่ถืออยู่ให้กับผู้ร่วมทุนอื่นเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย เป็นต้น
3.กู้ยืมจากสถาบันการเงิน
แนวทางนี้เป็นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ประกอบการ เงินกู้คือการขอยืมเงินจากสถาบันการเงินโดยมีสัญญาว่าจะใช้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามระยะเวลา การกู้เงินประเภทนี้ จะนำเอาแผนธุรกิจ หรือทรัพย์สินอื่นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อขอเงินกู้ออกมาใช้ในการขยายธุรกิจ
สำหรับเงินกู้นั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น เงินกู้ปกติ (Loan) เงินกู้เบิกเกินบัญชี (Overdraft : O/D) , เงินกู้แบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N ) , หนังสือค้ำประกัน (Bank Guarantee) เป็นต้น
4.เงินทุนจาก Creative Source
แหล่งเงินทุนประเภทนี้เป็นเงินที่ไม่ได้จากสถาบันการเงิน มีหลากหลายรูปแบบเช่นจากหน่วยงานรัฐ, ฟินเทค, Crowdfunding ซึ่งแต่ละประเภทจะมีเงื่อนไขแตกต่างกัน
สำหรับหน่วยงานรัฐ จะให้การสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ขององค์กร เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะให้เงินสนับสนุนในการทำวิจัย ด้านนวัตกรรม
เพื่อช่วยให้สินค้ามีคุณภาพสูงขึ้นแปลกใหม่และส่งออกได้มากขึ้น หรืออย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่เปิดให้ผู้ประกอบการสามารถขอทุรของโครงการนวัตกรรมแบบเปิดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน
ส่วนเงินทุนจาก Creative Source อย่าง Crowdfunding คือการที่ผู้ประกอบการระดมทุนจากมวลชนหมู่มากในจำนวนคนละเล็กละน้อย ผ่านผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้เสนอไว้ ส่วน ฟินเทคเป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจการเงินและนำมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการเช่นการปล่อยสินเชื่อผ่านBlockchain ในรูปแบบต่างๆ
หลังจากได้ความรู้เรื่องแหล่งที่มาของเงินทุนแล้ว อยากแนะนำว่าหากไม่แน่ใจหรือต้องการคำปรึกษาทางด้านธุรกิจและเงินทุน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK เป็นธนาคารที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการส่งออกโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs แถมยังมีบริการรับประกันการส่งออก เพื่อลดความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการมั่นใจขยายตลาดการค้าใหม่ๆ ด้วย ช่องทางการติดต่อขอรับคำปรึกษาเชิญได้ที่ EXIM Contact Center หมายเลข 0 2169 9999 ให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-18.00 น.
Author : ชลลดา อิงศรีสว่าง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
-
แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี
แต่งบัญชี หวังจะเลี่ยงภาษี ในอดีต เราคงจะเคยได้ยินเรื่องที่ผู้ประกอบการ มักจะทำบัญชีสองเล่ม โดยมีเหตุผลว่าเพื่อใช้สำหรับกู้เงินกับธนาคารและใช้สำหรับยื่นเสียภาษีเงินได้ บัญชีทั้ง 2 เล่มนี้ มีความแตกต่างกันในเรื่อง...
20.05.2020
-
5 วิธี พาธุรกิจฝ่าวิกฤตตามแนวคิด Lean Management
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังระส่ำระส่ายจากความท้าทายรอบด้าน ทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบกันทุกหย่อมหญ้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทางรอดของผู้ประกอบการมีหลายทาง แต่วันนี้เราอยากชวนผู้ประกอบการมารู้จักกับแนวคิดการบริหา...
03.05.2020
-
ต้องทำอย่างไรเมื่อผู้ซื้อในต่างประเทศยื่นล้มละลาย
ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ยังคงกระจายอยู่ในหลายประเทศ และยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงเมื่อใด เราก็เริ่มได้ข่าวการหดตัวของกิจการใหญ่ชื่อดังหลายราย ที่เริ่มจากการลดสาขา ลดกำลังการผลิต หรือหยุดการผลิตชั่วคร...
09.07.2020