GURU TALK

ประกันการส่งออก ของดีที่ต้องบอกต่อ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK มีบริการหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) แห่งอื่นไม่มี นั่นคือ  “บริการการประกันการส่งออก

บริการประกันการส่งออกนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการรับประกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินตามสัญญาสำหรับการส่งออกสินค้าหรือบริการจากประเทศไทย โดยผู้เอาประกันจะได้รับชดเชยค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ไม่ได้รับชำระเงินตามสัญญา ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเสี่ยงทางการค้าและความเสี่ยงทางการเมืองตามสัดส่วนความคุ้มครองที่ ธสน. กำหนดไว้

บริการประกันการส่งออกนี้ ทาง ธสน.ได้ออกผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยเสนอบริการการป้องกันความเสี่ยงนี้ให้กับผู้ส่งออกทั่วไป  ไม่ได้จำหน่ายแค่ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อกับ ธสน. เท่านั้น  เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยกล้าที่จะเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ

คุณฉัตรทิพย์ วีราสา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และปฏิบัติการรับประกัน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ขยายความว่า  บริการประกันการส่งออก  เป็นบริการที่ให้ความคุ้มครองในเรื่องของการไม่ได้รับชำระเงิน หรือ non payment ที่เกิดจากผู้ซื้อในต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงความเสียหายจากการขนส่ง (Marine Insurance) หรือความเสียหายอื่นๆ ที่บริษัทประกันวินาศภัยเปิดขายให้กับผู้ส่งออก แต่เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกค้าขายได้ด้วยความมั่นใจว่าจะได้รับเงินแน่นอน โดยครอบคลุมทั้งความเสี่ยงทั้งสาเหตุด้านการค้า และด้านการเมือง 

“ความคุ้มครองเริ่มต้นหลังจากส่งสินค้าออกจากประเทศไทยไปแล้ว  โดยหากเป็นความเสี่ยงทางการค้าจะคุ้มครองทั้งกรณีที่ผู้ซื้อในต่างประเทศล้มละลาย ไม่ยอมจ่ายเงิน รวมถึงคุ้มครองถึงการไม่รับมอบสินค้าด้วย เช่น กรณีที่ ธสน. เคยมีประสบการณ์ คือ ผู้ส่งออกไทยส่งออกทุเรียน แล้วผู้ซื้อไม่มารับสินค้า ปล่อยให้ทุเรียนเน่าเสียที่ท่าเรือ กรณีนี้นอกเหนือจากมูลค่าความเสียตามราคาทุเรียนแล้ว ผู้ส่งออกต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการทำลายสินค้า ค่าใช้จ่าย Demurrage Charges ระหว่างสินค้าไปค้างที่ท่าเรือ เพิ่มด้วย ซึ่งบริการประกันการส่งออกครอบคลุม ภายใต้เงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด

สำหรับความเสี่ยงทางการเมืองนั้น ครอบคลุมใน 3 สาเหตุหลักๆ คือ การปฏิวัติ รัฐประหาร การจลาจล ในประเทศผู้ซื้อ ทำให้ผู้ซื้อจ่ายค่าสินค้ามาไม่ได้ หรือ กรณีที่ถูกจำกัดการโอนเงินออกนอกประเทศ ผู้ซื้อไม่สามารถหาเงินสกุลที่ตกลงไว้มาชำระได้ รวมไปถึงเมื่อส่งออกไป แล้วประเทศผู้ซื้อออกกฏห้ามนำเข้าสินค้าประเภทนั้น เป็นต้น  

ในโลกการค้ายุคใหม่ ความสำคัญของการประกันการส่งออก เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ซื้อที่นิยมติดต่อขอค้าขายแบบ Credit term ซึ่งมีความเสี่ยงเนื่องจากผู้ส่งออกต้องส่งออกสินค้าไปให้ผู้ซื้อก่อน แล้วรอจบครบระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ ผู้ซื้อจึงจะชำระเงิน หรือ แม้กระทั่ง การก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ธุรกิจหลายประเภทที่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เริ่มล้มหายตายจากไป และล่าสุดที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ  เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ผลกระทบยิ่งมีมากขึ้น ทั้งจาก Life style ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผู้คนชะลอการใช้จ่าย ซึ่งยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดความเสี่ยงจากการที่ส่งออกแล้วไม่ได้เงิน หรือได้รับเงินช้า เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้นอีก  โดยน่าจะเริ่มมีผลกระทบมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้  และต้องระวังต่อไปยังกลุ่มธุรกิจเทรดเดอร์ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากผู้ซื้อปลายทางไม่สามารถชำระค่าสินค้า ทำให้ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายเงินให้ผู้ส่งออกไทย เป็นโดมิโนกันไป

ล่าสุด มีเทรดเดอร์รายใหญ่ระดับโลกในตะวันออกกลาง ที่สั่งซื้อข้าวจากผู้ส่งออกไทย  โดยมีปลายทางไปยังทวีปแอฟริกา ก็ประสบปัญหาไม่สามารถชำระค่าสินค้าให้ผู้ส่งออกไทยได้ กลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่อยากให้ผู้ส่งออกระวังเพิ่มมากขึ้น อาทิ อัญมณี สิ่งทอ และสินค้าที่เน่าเสียง่าย หรือสินค้าที่มีความ sensitive กับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม 2563) พบว่า ลูกค้าประกันการส่งออกของธสน.ยื่นเอกสารผู้ซื้อในต่างประเทศชำระเงินล่าช้าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น และคาดว่าน่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้

ทั้งนี้ตั้งแต่ ธสน. เปิดให้บริการประกันการส่งออกในปี 2538  ธสน. ได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า   รองลงมาคือ ผู้ซื้อล้มละลาย   ประเทศที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงค์โปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเภทสินค้าที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดได้แก่ ข้าว อาหารกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมัน

นอกจากจะมีบริการประกันการส่งออกแล้ว ธสน. ยังมีบริการ ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ส่งออกนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทางการค้า รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการชำระเงิน และให้เครดิตทางการค้าแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศอีกด้วย

 

หากท่านสนใจขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC)  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  โทร 02 261 3700 ต่อ 3530-1

 

Most Viewed
more icon